Pages

Sunday, September 20, 2020

"กรณ์" เปิดใจ หากถูกทาบนั่ง รมว.คลัง ม็อบโยงปากท้องไหม คิดอย่างไร ศก.ปีหน้าไทยดีขึ้น - ไทยรัฐ

layaknaik.blogspot.com

คิดอย่างไรที่มีคนออกมาบอกว่า ปีหน้าเศรษฐกิจจะดีขึ้น?

นายกรณ์ กล่าวว่า หากจะพูดว่า “เศรษฐกิจดีขึ้น” ก็ขึ้นอยู่กับว่าเปรียบเทียบกับอะไร เช่น เศรษฐกิจดีขึ้นแล้วเมื่อเทียบกับช่วงล็อกดาวน์ (Lockdown) เพราะคนเริ่มมีการเคลื่อนไหวได้ ออกมาเที่ยวได้ มีการจับจ่ายใช้สอยข้ามจังหวัดได้ ผมเชื่อว่าไตรมาส 3 ยังไงต้องดีกว่าไตรมาส 2 แต่ “ดีขึ้น” หมายความว่า กลับไปสู่ปกติก่อนโควิด-19 (COVID-19) ผมคิดว่ายังยาก ถามง่ายๆ คิดว่า “ต้นปี 2564 จะมีการท่องเที่ยวระดับเดียวกับก่อนโควิด-19 หรือไม่?” ประมาณ 40 ล้านคนต่อปี คำตอบก็คือ “ยัง!” ยังไม่สามารถที่จะกลับไปสู่จุดนั้นได้ แต่ถามว่า “ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้ไหม?” ผมคิดว่า “ได้” โดยตอนนี้ประเทศอื่นๆ หลายประเทศก็เริ่มที่จะอยู่เป็นกับโควิด-19 เริ่มที่จะปรับชุดความคิดยุทธศาสตร์ว่า โควิด-19 ก็คืออีกโรคหนึ่งที่เราต้องหาทางอยู่กับมัน หลายคนพูดเหมือนกันว่า จุดสมดุลที่สังคมไทยรับได้คืออะไร หากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปิดประเทศอยู่ในผลกระทบที่เรารับได้ก็ปิดต่อไป เพื่อที่จะทำให้ประชาชนไทยปลอดภัยอย่างสิ้นเชิงจากโควิด-19 แต่ถ้ามองว่าเริ่มรับไม่ได้ก็ต้องหาจุดปลอดภัย

ในความคิดเห็น มีอะไรที่ต้องเร่งแก้ไข?

เรื่อง"ปากท้อง"สำคัญที่สุด แล้วสิ่งที่เราพูดมาตลอดคือ กลุ่มผู้ประกอบการที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กขึ้นไปถึงเอสเอ็มอี (SMEs) ที่มีจำนวนหลายล้าน ซึ่งที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาล ตรงนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามาใหม่ต้องปรับจูนนโยบายมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้เข้าถึงได้ เพราะกลุ่มนี้สายป่านสั้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่หากินกับนักท่องเที่ยว เดือดร้อนหนัก อุตสาหกรรมโรงแรมลงไปถึงร้านค้าที่พึ่งพาลูกค้าจากต่างประเทศ ผมคิดว่าต้องรีบช่วยเหลือ เพราะกลุ่มพวกนี้มีศักยภาพ สำหรับประเทศไทยยังไงผมก็เชื่อว่าจุดแข็งในอนาคตก็คือ “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ถ้าเราปล่อยให้ผู้ประกอบการล้มหายตายจากไปหมดในช่วงนี้ ผมเชื่อว่าเมื่อสภาวะกลับมาสู่สถานการณ์ปกติก็จะฟื้นตัวยาก 

เลือกตั้งท้องถิ่น มีเลือกแคนดิเดตไว้บ้างหรือยัง?

นายอรรถวิชช์ เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวว่า พรรคกำลังหา “นักปฏิบัติ” เดินสายทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ เพื่อให้ได้นักปฏิบัติมากที่สุด ซึ่งนี่เป็น “ข้อดี” ของรัฐธรรมนูญเหมือนกัน และการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ที่จะต้องลงไปทำไพรมารี (Primary) ทุก 350 เขตเลือกตั้ง ทำให้เรามีโอกาสลงไปเจอคนมากขึ้น พรรคกล้าต้องการคนใหม่ๆ ที่ไม่เคยเป็นนักการเมือง แต่มีความชำนาญเฉพาะด้าน เป็นนักปฏิบัติเฉพาะด้าน ตอนนี้ระดมค้นหาก็เหนื่อยหน่อย แต่สนุกดี เพราะได้เจอคนหลากหลายอาชีพ อยากเห็นการเมืองเปลี่ยน จากที่ผูกกับนักการเมืองท้องถิ่น ผูกกับนักการเมืองระดับชาติเดิมๆ ตระกูลเดิมๆ คนเดิมๆ เปลี่ยนมาเป็นคนที่มีอาชีพหลากหลายขึ้น คิดว่าน่าจะทำมิติใหม่ทางการเมืองได้ โดยการนำนักปฏิบัติที่ชำนาญเฉพาะด้านมาเป็นผู้แทนราษฎร ทีนี้เรื่องของท้องถิ่น เรากำลังมีแคมเปญรับสมัครเลย ถ้าคุณคิดว่า คุณอยากเป็นตัวแทนผู้สมัครของพรรค คุณบอกมาเลยว่า คุณมีความเด่นและเป็นนักปฏิบัติอย่างไร ส่วนเรื่องของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ก็มีความตั้งใจส่งทุกเขต หัวเมืองอื่นๆ ต้องดูความพร้อมอีกที เนื่องจากเป็นพรรคใหม่และต้องการคนที่มีคุณภาพมาสมัคร

คิดเห็นอย่างไรกับสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.รอบนี้ หากรัฐบาลไฟเขียวให้เลือกตั้ง

อรรถวิชช์ กล่าวต่อว่า  สนาม “ผู้ว่าฯกทม.” รอบนี้อาจไม่ได้เป็นศึกของพรรคการเมืองแล้ว แต่เป็นการลงอิสระ หลายคนลงอิสระกันเยอะ แต่ในส่วนพรรคกล้า อย่างที่เรียนว่า สก. ตั้งใจส่งทุกเขต เพราะตั้งแต่มีสภากรุงเทพมหานคร ตัว สก. ไม่ได้เล่นบทบาทคุมงบประมาณ แต่ผูกติดกับตัวผู้ว่าฯกทม. ถ้าศึกคราวนี้เป็นศึกที่ผู้ว่าฯกทม. เป็นผู้ว่าฯกทม.อิสระ ตัว สก.เอง จะมีบทบาทสำคัญมากถ้าเป็น สก.สังกัดพรรคการเมือง เพราะสามารถนำพานโยบายจากพรรคไปได้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าผู้ว่าฯกทม.อิสระ จะคอนโทรลแบบไหน แต่ถ้าในสภานิติบัญญัติกรุงเทพมหานครมีดีเอ็นเอของพรรค มีนโยบายที่พรรคอยากส่งผ่าน ผมว่ามันอาจเป็นอีกบริบทหนึ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะส่วนมากแล้วผู้ว่าฯกทม. จะมาจากพรรคการเมือง แต่ถ้าผู้ว่าฯกทม.อิสระ แต่ สก.สังกัดพรรคการเมือง มันจะมีนโยบายเกื้อหนุนกันได้ ไม่ใช่รอคนคนเดียวตัดสินใจ ถ้ารอผู้ว่าฯกทม.ตัดสินใจคนเดียว ก็อาจจะเป็นเหมือนเดิม

ด้านนายกรณ์ กล่าวว่า เกมคงไม่เปลี่ยน เพราะในอดีตย้อนหลังไป 10 กว่าปี เป็นการแข่งขันระหว่าง 2 พรรค เที่ยวนี้อย่างที่ว่า อาจจะ 4-5 พรรคที่มีน้ำหนักเท่าๆ กัน เมื่อบวกอิสระ ผมคิดว่า น่าสนใจ เราน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี การเปลี่ยนแปลงโดยส่วนใหญ่ก็น่าจะส่งผลทางบวก คนกรุงเทพฯ น่าจะมีตัวเลือกมากขึ้น ข้อดีคือ เป็นโอกาสให้คนกรุงเทพฯ ได้เลือกสิ่งที่ต้องการมากกว่าเลือกจากความกลัว หรือเลือกจากความหวาดระแวงฝั่งตรงข้าม น่าจะเลือกด้วยความสร้างสรรค์ ได้ในส่วนที่อยากจะได้มากขึ้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี

มีมองหาคนที่จะมาลงเป็นผู้ว่าฯกทม.ไว้บ้างหรือยัง?

อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า เราพร้อมรับ ใครสนใจเป็นผู้ว่าฯกทม. ในนามพรรคกล้าติดต่อมาได้เลย แต่ตามจริง ในการทำงานพรรคการเมืองก็มีว่าที่ผู้สมัครที่คุยไว้แล้ว ก็ต้องลองดูว่าท่าทีของรัฐบาลในการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกตั้งระดับท้องถิ่น ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ แต่เป็นทั่วประเทศจะมีเมื่อไร เพราะเวลาล่วงมานานมากแล้ว จริงๆ ก็ถึงเวลาให้โอกาสคนไทยได้เลือกผู้นำของตัวเองเสียที

มีอักษรย่อในใจบ้างหรือไม่?

นายกรณ์กล่าวต่อว่า เมื่อพร้อมคงไม่ต้องย่อ บอกชื่อเลย แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลา

ลงผู้ว่าฯกทม. พรรคกล้า มีนโยบายอะไรที่แตกต่างที่จะเสนอคนกทม.ไหม?

นายอรรถวิชช์ ระบุว่า พรรคกล้ามีการแบ่งลักษณะภารกิจงานที่โฟกัสอยู่ 5 เรื่อง อันดับแรกเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องที่สองเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเกษตร การศึกษา และสุดท้ายเรื่อง Soft Power คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ละคนที่จะเป็นผู้สมัครพรรคกล้าจะต้องเลือกว่าตัวเองเป็นอะไรใน 5 เรื่องนี้ และทั้ง 5 เรื่องก็เป็นเรื่องที่เราคิดว่าจะช่วยผลักดันให้เกิดเป็นนโยบาย เพราะฉะนั้นคนที่มีดีเอ็นเอเดียวกันและเป็นนักปฏิบัติ คือ สิ่งที่เราต้องการ ความหลากหลายของผู้สมัคร ความหลากหลายของอาชีพได้หมด จะเป็นหมอก็ได้ ทนายความก็ได้ วิศวกรก็ได้ เกษตรกรก็ได้ เพราะกรุงเทพมหานครมีความหลากหลาย แต่ขอให้มีความชำนาญในเรื่องนั้น นี่คือสิ่งที่อยากเห็น ไม่งั้นจะกลายเป็นนักการเมืองอาชีพ เป็นอาชีพการเมือง ผมอยากเห็นคนมีของก่อนหน้าที่จะเข้าสู่บทบาททางการเมือง ความสนุกและความมันคือ พรรคเป็นเวที เราต้องการให้คนแบบนี้ขึ้นมาสู่การเมืองให้ได้ ผมคิดว่าการเมืองไทยเริ่มเปลี่ยนแล้ว เริ่มเห็นคนใหม่ๆ เข้าสู่การเมืองมากขึ้น คิดว่าพรรคกล้าน่าจะเป็นเวทีให้กับคนกลุ่มนี้ได้

เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวอีกว่า กรุงเทพฯ ดังในเรื่อง “สตรีทฟู้ด” เวลาที่ฝรั่งมา เขาจะบอกประเทศไทยของกินอร่อยหรือสตรีทฟู้ด แต่เป็นไปได้ยังไงว่า กรุงเทพมหานครกำลังเอา “ฟู้ด” ออกจาก “สตรีท” เอาอาหารออกจากถนน มันสวนทาง เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าจะเปลี่ยนได้แล้วคือ “ระบบราชการ” ไม่ได้ต่อสู้กับราชการ แต่เรากำลังต่อสู้กับความล้าหลังของระบบราชการ บางทีรัฐต้องเดินเข้าไปช่วยให้เขามีอาชีพมากขึ้น ถ้าเกิดเรามองว่าเราคือแชมเปียนส์สตรีทฟู้ดของโลก ทำอย่างไรที่สตรีทฟู้ดจะมีมาตรฐานมากขึ้น สะอาดมากขึ้น สนับสนุนยังไงให้ดีมากขึ้น ไม่ใช่เอาออกจากถนน เพราะฉะนั้นระบบราชการบางทีก็ต้องเปลี่ยน โลกเปลี่ยนหมดแล้ว กรุงเทพมหานครสามารถเข้าไปช่วยเหลืออำนวยความสะดวก วินมอเตอร์ไซค์มาช่วยส่งของด้วยได้ไหม มาช่วยทำโฆษณาย่านได้ไหม ว่าย่านดีกว่าห้าง เช่น ย่านเยาวราช โฆษณาให้ย่านเยาวราชเป็นย่านที่คนชอบมาซื้อของ ส่งของขายได้ ผมว่ารัฐน่าจะทำแบบนี้สำหรับท้องถิ่น แล้วย่านดีๆ เยอะแยะ อย่างมีนบุรี ที่สามารถเป็นฮับตลาดที่ขายของเกี่ยวกับฮาลาลได้ กรุงเทพฯ มีมนตร์เสน่ห์ทุกอัน อย่างที่ผมบอก ถ้าเรายอมรับความหลากหลายในการเข้ามาของนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ได้ กรุงเทพมหานครได้เห็นของดีๆ เยอะ เพราะ 4-5 ปี เราอยู่ในระบบราชการประจำ ผมคิดว่ามนตร์เสน่ห์กรุงเทพฯ อยู่ที่การเลือกตั้งท้องถิ่นว่าเปิดโอกาสให้แค่ไหน อาจเป็นบรรยากาศที่ดี แต่ผมเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ อยากลองของใหม่ เพราะฉะนั้นเราต้องหานักปฏิบัติเอามานำเสนอเขาให้ได้ว่าคนพวกนี้เป็นความหวังได้

ถึงตอนนี้หากรัฐบาลปล่อยให้มีการเลือกตั้ง ส่วนตัวคิดว่าพร้อมกี่เปอร์เซ็นต์?

หัวหน้าพรรคกล้า เผยว่า ยังไม่พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องยอมรับจริงๆ ว่า พรรคเรายังเป็นพรรคใหม่ ก็เร่งหาผู้สมัคร หาสมาชิก เตรียมความพร้อม หลอมรวม ซึ่งสำคัญมาก ทั้งความคิด อุดมการณ์ ให้ทุกคนอยู่ในจุดเดียวกัน ตอนที่ผมลาออกจากการเป็นสมาชิก ส.ส. คนก็ตกใจว่าเพิ่งเลือกตั้งไม่นาน ยุบสภาก็อีกตั้ง 2-3 ปี รีบร้อนไปไหน ผมมีความรู้สึกว่าเมื่อเรามีความชัดเจนแล้วว่าเราอยากทำอะไรเพื่อบ้านเมือง ผมคิดว่าควรเริ่มเลย ส่วนหนึ่งเพราะเรารู้ว่ามันไม่ใช่ทำแบบฉาบฉวย คือ การจะทำต้องใช้เวลาทำความเข้าใจภายในพรรคกันเองว่า เป้าหมายของเราคืออะไร แนววิธีคิด เรามองทางออกของประเทศไปในแนวทางเดียวกัน ต้องหลอมรวมชุดความคิด ถึงจะมีพลังในการสื่อออกไปและทำความเข้าใจกับประชาชนให้รู้ว่า พรรคกล้ามาเพื่ออะไร และจะทำอะไรให้กับเรา ไม่ใช่ว่า 1 เดือนก่อนเลือกตั้งค่อยประกาศตัวเป็นพรรค แล้วเอาหัวคะแนนหรือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นมารวมตัวกัน อันนั้นคือ การเมืองแบบเก่า เราต้องการทำการเมืองแบบนี้เลยต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นตอบว่า วันนี้พร้อมหรือยัง ก็ต้องบอกว่ายังไม่พร้อมขนาดนั้น แต่สมมติว่า เคาะระฆังต้องขึ้นชก ก็ต้องขึ้นชก เราก็เร่งทำงานของเราให้มีความพร้อมมากที่สุด

ยัน ไม่มีพรรคไหนพร้อมเลือกตั้ง แต่ถ้ามียุบสภา เราก็พร้อม

นายอรรถวิชช์ เสริมอีกว่า จริงๆ แล้วต้องบอกว่า ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่มีความพร้อมที่จะส่งผู้สมัครลงได้ทั้ง 350 เขต เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ 2 มันต้องไปทำ Primary Vote ในทุกๆ เขต แต่ละเขตจะต้องมีสมาชิก 100 คนเป็นอย่างน้อย เท่ากับว่าพรรคนั้นต้องมี 35,000 คนเป็นอย่างน้อย ตอนนี้ไม่มีพรรคไหนเลยที่ทำได้อย่างนั้น ทุกคนก็ยังหาสมาชิก ทุกคนกำลังเข้าระบบ Primary Vote ทุกๆ พรรคเหมือนกัน ขณะนี้ไม่ง่าย แต่อย่างที่บอกคือ อย่างเราก็รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญเขาก็เขียนได้ให้เราไปหาคน ให้เราไปหาคนที่คาแรกเตอร์ตรงกับเรา เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองในอนาคตในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พรรคเล็กโอกาสที่จะเกิดยาก ต้องเป็นพรรคที่มีดีเอ็นเอเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นพรรคกล้าต้องใช้เวลาเป็นปี เพราะไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ คือ ถ้าพรรคเฉพาะกิจก็ผูกกับนักการเมืองเดิม คือ พูดง่ายๆ เบอร์ 1 ไม่ได้ ไม่เอาเบอร์ 2 เบอร์ 3 อย่างนี้ก็จะมีฐานเก่า แต่ผมว่ามันไม่ใช่ความใหม่ ความใหม่คือ คุณภาพของคน เอานักปฏิบัติที่ดีเอ็นเอเหมือนกัน อย่างนี้จะเป็นสถาบันการเมืองในอนาคตได้ ก็ต้องใช้เวลากับมัน แต่ว่าถ้ามียุบสภาเมื่อไร เราก็พร้อม

หากรธน.ไม่ได้แก้ แล้วต้องมาเลือกตั้งรอบหน้า แล้วใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมนี้ล่ะ?

นายกรณ์ บอกว่า อันนั้นก็เป็นเรื่องของรัฐสภา แต่ว่ากฎกติกามาอย่างไร เราก็จะทำให้ดีที่สุด ในส่วนของเราเองก็คอยดูอยู่ว่า จะมีการปรับกฎกติกาแก้รัฐธรรมนูญกันอย่างไร ก็น่าจะมีข้อเสนอที่หลากหลายมากขึ้น เราก็เตรียมตัวของเราไป ผมมองว่าสังคมเลื่อนมาไกลจากจุดเดิมในระยะเวลาที่สั้นมากเลย ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็เกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้เลยจากการแสดงออกของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษา ที่มีการเรียกร้องให้เป็นการเมืองใหม่ มันก็เลยทำให้การเปลี่ยนแปลงที่ 6 เดือนที่แล้ว ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นกระแสหลักในสังคม หรือมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าเป็นเรื่องที่จะต้องเกิด ซึ่งอันนี้ต้องให้เครดิตกับกลุ่มผู้มาแสดงออกว่า มันควรจะต้องมีการเปลี่ยนกฎกติกาในระดับรัฐธรรมนูญ ทีนี้ในส่วนของเราก็มีความเห็นที่หลากหลาย ส่วนตัวผมเองก็ยืนยันมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอนแรกผมก็เป็นคนหนึ่งคนที่ไม่รับ ซึ่งเหตุผลตอนนั้นก็ชัดเจน คือ ผมไม่รับอำนาจ ส.ว. ในการที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อมีการประชามติ ผมก็เลือกที่จะเคารพกติกา สมัครเลือกตั้งเหมือนกับคนอื่นๆ ในครั้งที่แล้ว แต่ถามว่า ผมอยากเห็นกติกานี้มีการเปลี่ยนแปลงไหม เพื่อให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ชัดเจนว่าผมอยาก ในแง่ของพรรคเราก็มีความชัดเจน

ยัน ไม่เชื่อ สว.จะกล้าสนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อย

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า "เอาเป็นว่า สมมติมีการเลือกตั้งโดยเงื่อนไขกติกาเดิม ผมก็ไม่กลัว ความหมายของผมคือ ผมไม่เชื่อว่า ส.ว. ถึงแม้มีอำนาจในมือ เขาจะกล้าสนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อย ผมไม่เชื่อ"

ด้านนายอรรถวิชช์ เสริมว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้ารวมกันแล้วได้ไม่ถึงครึ่ง แล้วเอาเสียง ส.ว.มาโหวตดันทุรังให้เป็นนายกรัฐมนตรี มันไม่ใช่ประชาธิปไตยปกติ มันไม่มีทาง แนวปฏิบัติมันก็ฝืนการปฏิบัติ 

ลั่น "ไม่กลัว" จะแก้หรือไม่แก้ รธน.ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ

อดีตรมว.คลัง ระบุอีกว่า สมมติมีการเลือกตั้ง ผมก็ไม่กลัว ผมไม่เชื่อแม้ ส.ว.ยังมีอำนาจ แล้ว ส.ว.จะยังกล้าสนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อย ผู้ที่จะเป็นรัฐบาลแม้ยังไม่สามารถแก้มาตรา 272 ได้ ก็ยังต้องเป็นผู้รวบรวมเสียงข้างมากได้อยู่ดี ในทางปฏิบัติแก้ ไม่แก้รธน.ผมไม่กลัว พรรคกล้าก็จะสนับสนุนพรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นรัฐบาลอย่างไรก็แล้วแต่ ถึงแม้จะยังไม่มีการแก้มาตรา 272 ในการเลือกตั้งครั้งหน้า รัฐบาลก็จะเป็นผู้ที่รวบรวมเสียง ส.ส.เกินครึ่งอยู่ดี เหมือนครั้งที่แล้ว แต่ครั้งหน้ายิ่งชัดเลย

"เพราะฉะนั้นจะถามผม ในทางปฏิบัติจะแก้หรือไม่แก้ ผมไม่กลัว ผมคิดว่าพรรคกล้าเอง เราก็ยืนยันว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสภาหรือนอกสภาก็ตามก็จะสนับสนุนรัฐบาลที่รวบรวมเสียงข้างมากในสภาล่างได้ เพราะฉะนั้นประเด็นอื่น ผมคิดว่ากระแสสังคมและความเข้าใจในหลักประชาธิปไตยของสังคม เป็นเกราะกำบังในการคุ้มครองเราอยู่แล้ว ส.ว.มีอำนาจยังไงก็ยากมากที่จะใช้อำนาจนั้นได้"นายกรณ์ กล่าว...

งานนี้ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ขอกระเทาะชายร่างโย่งที่ชื่อ"กรณ์ จาติกวนิช" ทุกแง่มุมการเมืองชนิดหมดเปลือก ส่วน "เขา" จะสามารถทำได้แค่ไหน  "ระยะทางจะพิสูจน์ม้า กาลเวลาจะพิสูจน์คน" เอง

Let's block ads! (Why?)



"นั่ง" - Google News
September 21, 2020 at 06:45AM
https://ift.tt/2RHP2QT

"กรณ์" เปิดใจ หากถูกทาบนั่ง รมว.คลัง ม็อบโยงปากท้องไหม คิดอย่างไร ศก.ปีหน้าไทยดีขึ้น - ไทยรัฐ
"นั่ง" - Google News
https://ift.tt/36QWD6y

No comments:

Post a Comment